Saturday, October 1, 2011

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (Measurement, Analysis, and Knowledge Management)

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ (หมวด 4 ของเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ) เป็นพื้นฐานของระบบการจัดการผลการดำเนินการโดยรวมขององค์กร ทำให้องค์กรมีการจัดการที่มีประสิทธิผล และมีการปรับปรุงผลการดำเนินการและความสามารถในการแข่งขัน วัตถุประสงค์ของหมวดนี้สรุปได้คือ
 

   •  เพื่อสนับสนุนการจัดทำกลยุทธ์ขององค์กร
   •  เพื่อเป็นพื้นฐานที่มีประสิทธิผล (Effective Basis) ในการวัดผลการดำเนินการด้านต่างๆ
   •  เพื่อใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ
 

การวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ เกี่ยวข้องกับกระบวนการใช้ข้อมูลและสารสนเทศที่สำคัญ เพื่อผลักดันให้เกิดการปรับปรุงและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ดังนั้นหัวใจสำคัญของกระบวนการใช้ข้อมูลและสารสนเทศดังกล่าวอยู่ที่คุณภาพและความพร้อมใช้งานของข้อมูล
 

หมวดนี้จะประกอบด้วย 2 เรื่องที่สำคัญคือ 1. การวัด วิเคราะห์ และปรับปรุงผลการดำเนินการ  และ 2. การจัดการสารสนเทศ ความรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
 

1. การวัด วิเคราะห์ และปรับปรุงผลการดำเนินการ โดยจุดประสงค์ของหัวข้อนี้จะมุ่งเน้นกระบวนการหรือวิธีการที่องค์กรใช้ในการเลือกและใช้ข้อมูลและสารสนเทศสำหรับ 3 กระบวนการหลักที่สำคัญคือ
   ก.  กระบวนการวัดผลการดำเนินการขององค์กร
   ข.  กระบวนการวิเคราะห์และทบทวนผลการดำเนินการขององค์กร
   ค.  กระบวนการปรับปรุงผลการดำเนินการขององค์กร
 

2. การจัดการสารสนเทศ ความรู้ และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจุดประสงค์ของหัวข้อนี้จะมุ่งเน้นกระบวนการหรือวิธีการที่องค์กรใช้เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูล สารสนเทศ ซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ที่จำเป็นนั้น มีคุณภาพ และพร้อมใช้งาน สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) อาทิ บุคลากร ผู้ส่งมอบ คู่ความร่วมมือ และลูกค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นกระบวนการหรือวิธีการที่องค์กรใช้ในการสร้างและจัดการสินทรัพย์ทางความรู้ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเพื่อกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมขององค์กร ดังนั้นหัวข้อนี้จะประกอบด้วย 2 กระบวนการที่สำคัญคือ
   ก.  กระบวนการจัดการข้อมูล สารสนเทศ และความรู้ขององค์กร
   ข.  กระบวนการจัดการทรัพยากรสารสนเทศ และเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร
 

จะเห็นได้ว่าในหมวดการวัด การวิเคราะห์ และการจัดการความรู้นี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อองค์กร เพราะหมวดนี้จะทำให้องค์กรมีการจัดการที่มีประสิทธิผล และมีการปรับปรุงผลการดำเนินการและความสามารถในการแข่งขันโดยหมวดนี้จะเชื่อมโยงกับหมวดต่างๆ อาทิ หมวดการวางแผนเชิงกลยุทธ์ในเรื่องระบบการวัดผลโดยรวมของแผนปฏิบัติการ และการวัดผลการดำเนินการความก้าวหน้าของวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ, หมวดการมุ่งเน้นลูกค้าในเรื่องการวัดความพึงพอใจและความผู้พันของลูกค้าและการใช้สารสนเทศเพื่อนำไปใช้ตอบสนองให้เหนือความคาดหวังของลูกค้า และสร้างความผูกพันกับลูกค้า, หมวดการจัดการกระบวนการในเรื่องการวัดขีดความสามารถของกระบวนการ เป็นต้น

No comments:

Post a Comment